📰 คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ
บิมสเทคกับโอกาสของประเทศไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,000 หน้า 5 วันที่ 13 - 15 มิถุนายน 2567
ในปัจจุบันประเทศไทยมีส่วนร่วมในกรอบความร่วมมือที่หลากหลายกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก หนึ่งในกรอบความร่วมมือที่น่าสนใจคือ บิมสเทค (BIMSTEC) ซึ่งมีชื่อเต็มว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับบิมสเทคใน 3 ประเด็นคือ บิมสเทคและความสำคัญทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าในปัจจุบัน และทิศทางในอนาคตของ บิมสเทคและโอกาสของประเทศไทย
บิมสเทคและความสำคัญ ทางเศรษฐกิจ
บิมสเทคได้รับการก่อตั้งจากปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 7 ประเทศคือ 5 ประเทศจากเอเชียใต้ ประกอบด้วยบังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล และศรีลังกา และ 2 ประเทศจาก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เมียนมา และไทย โดยมีอินเดียเป็นประเทศหลักในด้านเอเชียใต้ และไทยเป็นหลักในด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แรงขับเคลื่อนของความร่วมมือดังกล่าวมาจากนโยบายมุ่งตะวันออก (Act East Policy) ของอินเดีย และนโยบายมุ่งตะวันตก (Act West Policy) ของไทย การเป็นสมาชิกบิมสเทคของไทยเป็นการเชื่อมโยงเพื่อเปิดประตูการค้าและการลงทุนสู่เอเชียใต้ และเป็นการกระจายความเชื่อมโยงทางด้านการค้าและการลงทุนไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากกลุ่มอาเซียนและประเทศคู่ค้าหลักของไทย
ความริเริ่มดังกล่าวมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เร่งความก้าวหน้าทางสังคม และส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีขอบเขตความร่วมมือใน 7 สาขา คือ การค้า การลงทุน และ การพัฒนา รับผิดชอบโดยบังคลาเทศ สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกมีภูฏานเป็นผู้รับผิดชอบ ความมั่นคงโดยอินเดีย การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร รับผิดชอบโดยเมียนมา ความสัมพันธ์ประชาชนต่อประชาชนโดยเนปาล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยศรีลังกา และความเชื่อมโยงโดยประเทศไทย
ภูมิภาคบิมสเทคมีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ โดยมีประชากรรวมกันมากกว่า 1.8 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 22 ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น (GDP) รวมอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีการค้าระหว่างประเทศรวมเท่ากับ 1.95 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บิมสเทคเป็นภูมิภาคที่น่าจับตามอง ทั้งในส่วนของโอกาสในการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนา
ความก้าวหน้าในปัจจุบัน
ในช่วง 27 ปีที่ผ่านมา บิมสเทค มีความคืบหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศสมาชิกต้องดูแลกิจการภายในของประเทศตนเอง
อย่างไรก็ตาม บิมสเทคมีความก้าวหน้าใน 2 สาขา คือ สาขาความมั่นคงที่สามารถบรรลุอนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและการค้ายาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 และสาขาความเชื่อมโยง ที่สามารถจัดทำแผนแม่บทด้านการเชื่อมโยงเมื่อปี 2563
ความก้าวหน้าที่สำคัญของบิมสเทค เกิดขึ้นในที่ประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ที่ไทยได้มอบรับตำแหน่งประธานบิมสเทค โดยในการประชุมดังกล่าวมีการผ่านเอกสารสำคัญหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter) ซึ่งได้เปลี่ยนการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้มีฐานะทางกฎหมายเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการต่างๆ มีหลักเกณฑ์ที่ตกลงร่วมกันอย่างแน่นหนา มีโครงสร้างเชิงสถาบันและแนวปฏิบัติในการดำเนินการ
รวมถึงกระบวนการในการตัดสินใจและแนวทางแก้ไขข้อขัดแย้ง นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 กฎบัตรบิมสเทคเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญสำหรับกลุ่มภูมิภาคบิมสเทค 7 ประเทศ
ทิศทางในอนาคตของบิมสเทค และโอกาสของประเทศไทย
แม้ว่าบิมสเทคจะมีความก้าวหน้าที่มากขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีความจำเป็นต้องมีการผลักดันเพิ่มเติมเพื่อให้ภูมิภาคมีความเชื่อมโยงมากขึ้นและยกระดับกรอบความร่วมมือต่อไป โดยประเด็นที่บิมสเทคควรดำเนินการเร่งด่วนเป็นดังต่อไปนี้
• การค้าในภูมิภาคและการบูรณาการทางเศรษฐกิจ การค้าภายในภูมิภาคในปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในภูมิภาคอย่างเต็มที่ ควรมี BIMSTEC Free Trade Agreement (FTA) เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการค้าและการบูรณาการทางเศรษฐกิจ อีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มการค้าในภูมิภาค คือ การค้าดิจิทัล ซึ่งประเทศ ไทยและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในด้านเอเชียใต้ต่างมีศักยภาพในด้านดังกล่าว ช่องทางออนไลน์สามารถช่วยให้การค้าสามารถเข้าถึงตลาดได้สะดวกและกว้างขวางมากขึ้น
• การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความสำคัญต่อการเพิ่มความเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งในส่วนของถนนทางรถไฟ ท่าเรือ และสนามบิน
• การอำนวยความสะดวกทาง การค้า โดยเฉพาะด้านการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค
• การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และเพิ่มการเชื่อมต่อด้านพลังงาน
ทั้ง 4 ด้านที่ควรดำเนินการเร่งด่วนนั้น เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยทั้งในด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือ โดยผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสามารถขยายตลาดไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ เข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีส่วนร่วมในการแชร์ประสบการณ์ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดและความเชื่อมโยงทางด้านพลังงาน
จากความสำคัญของบิมสเทคและโอกาสที่มีต่อประเทศไทย จึงควรมีการพูดคุยระหว่างประเทศสมาชิกบิมสเทคเพื่อร่วมกันอภิปรายในประเด็นที่น่าสนใจและแนวทงการพัฒนาในอนาคต และควรมีการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และความคิดเห็นระหว่างภาคส่วนต่างๆ
ดังนั้น ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ SANEM, BIMSTEC Secretariat, สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (ITD), ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Asia Foundation ในการจัดงานการประชุมระดับนานาชาติเรื่อง The New World Order and BIMSTEC: Curtain Raiser to the Sixth BIMSTEC Summit ในระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2567 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ Facebook: ASEAN Studies Center, Chulalongkorn University
บทความต้นฉบับ ➡️ บิมสเทคกับโอกาสของประเทศไทย