ประวัติคณะเศรษฐศาสตร์

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๓ โดยเกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง ๒ คณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือแผนกวิชาการคลัง คณะรัฐศาสตร์ และแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุดประสงค์หลักของการจัดตั้งคณะฯ เพื่อจัดการศึกษาที่ส่งเสริมความรู้ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย เนื่องจากเล็งเห็นว่าวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่สำคัญ และจำเป็นในการวางแผนพัฒนาประเทศ ประกอบกับประเทศไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จำนวนมาก จึงได้รวมแผนกวิชาการคลัง คณะรัฐศาสตร์ และแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จัดตั้งเป็น "คณะเศรษฐศาสตร์" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๓)

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ ประกอบด้วยการเรียนการสอน และด้านการวิจัย คณะฯจึงพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การค้นคว้าและงานวิจัย รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง คณะฯ ให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในทุกระดับชั้น โดยบุคลากรสายวิชาการของคณะฯได้รับการส่งเสริมให้เข้ารับการอบรมขั้นสูง เข้าร่วมโครงการสัมมนาและกิจกรรม workshop ต่างๆ ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่เหล่าคณาจารย์ ส่งผลให้การวิจัยเชิงประยุกต์และการวิจัยเชิงนโยบายของคณะฯได้รับความน่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงมากที่สุด

0
The number of academic staff now
0
The total number of students
0
Undergraduates students
0
Graduates students

ผลงานวิจัยในด้านต่างๆ ที่ผ่านมาของคณะฯไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจการเมือง เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เศรษฐศาสตร์แรงงาน เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ที่คณาจารย์ของคณะฯได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาและได้รับเชิญให้เข้าร่วมเพื่อให้คำปรึกษาและคำแนะนำตามหน่วยงานต่างๆ มากมาย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานทางวิชาการอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อการกําหนดนโยบายเศรษฐกิจและสังคมโดยรัฐบาลไทย

คณาจารย์ของคณะฯ ได้เข้าร่วมการอบรมขั้นสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการรักษามาตรฐานทางการศึกษาในระดับสูง อีกทั้งคณาจารย์ของคณะฯ มีความสนใจในเศรษฐศาสตร์ที่หลากหลายสาขาแตกต่างกันออกไป จึงทำให้คณะฯ มีหลักสูตรเฉพาะทางหลายหลักสูตร มีความหลากหลายของรายวิชาที่เปิดสอน โดยปัจจุบันคณะฯ เปิดสอนทั้งระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา ในกลุ่มวิชาต่าง ๆ  ได้แก่ เศรษฐกิจการเมือง เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศและการเงิน เศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ เศรษฐศาสตร์แรงงาน เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

โดยมุ่งเน้นการจัดการศึกษาแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ ตอบรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการจัดระบบการศึกษา จึงทำให้คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มีความโดดเด่นแตกต่างจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงอื่นๆ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คณะฯได้สร้างชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับสากล ผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะฯได้รับการยอมรับอย่างสูงจากสถาบันการศึกษา และบริษัทที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากบัณฑิตของคณะฯทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)

คณะฯ ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศที่มีชื่อเสียงผ่านโครงการนิสิตแลกเปลี่ยน การตีพิมพ์วารสารวิชาการ การประชุมวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน โดยคณะฯมีความร่วมมือและสร้างเครือข่ายทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมากกว่า ๒๕ แห่ง ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย โดยคณะฯ ได้เชิญอาจารย์ผู้มีความรู้และความชำนาญจากต่างประเทศมากกว่า ๒๕ คนต่อปี มีนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวต่างประเทศประมาณ ๔๐ คนในแต่ละปี นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษโดยเชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับมาเป็นผู้บรรยายพิเศษให้แก่นิสิต โดยเปิดโอกาสให้นิสิตทุกชั้นปีได้เข้ามามีส่วนร่วมในการฟังบรรยายต่างๆ ซึ่งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศและการจัดการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงนั้น สามารถสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการ และเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตนักเศรษฐศาสตร์ที่มีคุณค่าเป็นพลเมืองของประเทศและของโลกต่อไปในอนาคต

นอกจากความแข็งแกร่งทางด้านวิชาการแล้ว ในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ คณะฯ มีการรวบรวมหนังสือเรียนและวารสารทางวิชาการมากมายทั้งในระดับประเทศ และวารสารระดับนานาชาติ (Scopus-indexed) รวมถึงวารสาร Southeast Asian Journal of Economics มีการจัดระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายที่ทันสมัยเพื่อให้บริการแก่นิสิต อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรมากมายในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และให้นิสิตได้ฝึกฝนเพิ่มพูนทักษะ นอกจากนี้ ในด้านทำเลที่ตั้งนั้น คณะฯตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ที่ล้อมรอบด้วยย่านธุรกิจขนาดใหญ่ การเดินทางสะดวกสบาย มีระบบขนส่งมวลชนรองรับทั้งรถโดยสารประจำทาง ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าอย่าง BTS และ MRT สามารถใช้บริการรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อความสะดวกไปยังสถานที่ต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวก และอยู่ห่างจากศูนย์กีฬาและศูนย์การค้าต่างๆ เพียงไม่กี่ก้าว